ทำความรู้จัก โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร อาการอย่างไร สามารถรักษา-ป้องกันได้อย่างไร

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นอีกหนึ่งโรคผิวหนังชื่อคุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว โรคดังกล่าวคืออะไร และมีอาการอย่างไร วันนี้ เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน

โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร?
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีอาการผื่นขึ้นหลายรูปแบบ บริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ โดยผื่นโรคสะเก็ดเงิน มักเกิดขึ้นบริเวณที่คนทั่วไปสังเกตได้ชัด ส่งผลให้มีผลต่อภาพลักษณ์ ทำให้คนรอบตัว เพื่อนร่วมงานอาจรังเกียจผู้ป่วยได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะข้ออักเสบผิดรูป ภาวะอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงของโรคสะเก็ดเงิน คือใคร?
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า โรคสะเก็ดเงิน สามารถพบได้ทั้ง วัยเด็ก วัยทำงาน และผู้ป่วยสูงอายุ โดยในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก ประมาณ 20 – 25% ที่มีอาการรุนแรง

โรคสะเก็ดเงิน รักษาได้อย่างไร?

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก การรักษาที่เหมาะสม คือ การทายาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่เกิดผื่น หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมาก จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ทว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย

โรคสะเก็ดเงิน สามารถหายขาดได้หรือไม่?
ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันสามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยาภายใต้การดูแลของแพทย์ เหมือนการรักษาโรคทั่วไป

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
พญ.มิ่งขวัญ ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเอง โดยวิธีการ:

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ขจัดความเครียด
ออกกำลังกายเป็นประจำ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเห่อ เช่น การแกะเกา การดื่มสุรา
รักษาสุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

ที่มาข้อมูล : www.princhealth.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ resetaviation.com